เจาะลึก ทุกขั้นตอนการสอบ TOEIC
เมื่อครูสอนภาษามืออาชีพชาวอเมริกันมาลองสอบ TOEIC
เรามาฟังประสบการณ์และคำแนะนำดีๆจากคุณครูคนเก่งกันนะครับ บทความนี้เหมาะสำหรับคนที่กำลังจะเตรียมความพร้อมเพื่อสอบ TOEIC โดยตรงเลย
ทุกคนรู้กันเป็นอย่างดีว่าข้อสอบ TOEIC เป็นมากกว่าการทดสอบทักษะทางภาษา เนื่องจากผลสอบของ TOEIC จะช่วยให้หางานได้ง่ายขึ้นหลังจากที่เราจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้ว รวมถึงคนที่กำลังทำงานอยู่ในบริษัทชั้นนำต่างๆที่ต้องใช้ภาษาในการติดต่อกับต่างประเทศ เนื่องจากผลสอบดีๆจะช่วยให้มีความก้าวหน้าในด้านการงานอย่างต่อเนื่อง การสอบ TOEIC จึงไม่ได้เป็นที่นิยมเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ใช้กันทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่
ผมเป็นครูสอนภาษาชาวอเมริกันที่ตั้งใจมาทดลองสอบ TOEIC ด้วยเหตุผลสองประการ ข้อแรกคือ เพื่อนชาวไทยคนหนึ่งของครูที่ได้ทำข้อสอบ TOEIC ไปแล้ว แต่เธอไม่ได้คะแนนตามที่เธอตั้งใจเอาไว้ ดังนั้น เพื่อนคนนี้ของครูจึงต้องการจะสอบใหม่อีกครั้ง แต่เธอก็ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไรนัก ครูจึงมาสอบ TOEIC เพื่อที่จะช่วยเพื่อนของครูในการสอบครั้งใหม่นี้ ส่วนเหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ ครูเป็นครูสอนภาษาอังกฤษมืออาชีพที่ได้มีโอกาสติวให้นักเรียนที่จะไปสอบ TOEIC อยู่แล้ว ครูจึงต้องการจะมีประสบการณ์ในการทดลองสอบ TOEIC ด้วยตัวของครูเอง เพื่อที่จะได้มีคำแนะนำดีๆให้ทั้งนักเรียนกำลังเตรียมสอบอยู่ และครูสอนภาษาท่านอื่นๆที่เป็นเพื่อนร่วมอาชีพ และแน่นอนว่า สำหรับทุกท่านที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ด้วย
ครูพบว่า การเป็นเจ้าชองภาษาไม่ได้การันตีเลยว่าเราจะได้คะแนนเต็ม 990 คะแนนในการสอบ TOEIC อีกทั้งการเป็นครูสอนภาษาก็ไม่ได้เป็นการรับรองเลยว่าเราจะได้คะแนนสูงสุดในการสอบ TOEIC เช่นกัน ดังนั้น สำหรับครูแล้ว การที่ครูมาทดลองสอบ TOEIC แล้วได้คะแนนเต็ม 990 คะแนนในการสอบ TOEIC จึงถือเป็นความภูมิใจและเป็นการยืนยันว่าทุกเทคนิคที่ครูได้สอนนักเรียนของตัวเองไปนั้นได้ผลจริงๆ ยิ่งไปกว่านั้น นักเรียนที่กำลังจะเข้ามาเรียนติวสอบ TOEIC กับครูก็จะมีความมั่นใจมากขึ้นว่า ครูที่กำลังสอนพวกเขาอยู่นี้ได้เคยผ่านการทดสอบ TOEIC แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกกังวลก่อนสอบ หรือแม้แต่การใช้เทคนิคต่างๆที่เรียนมาเพื่อนำมาใช้ในการสอบจริง
การเตรียมตัว
ในการเตรียมตัวสอบ TOEIC ครูก็ทำเหมือนกับคนอื่นๆคือ ครูฝึกทำข้อสอบทักษะการฟังและการอ่านกับ ETS practice test ฉบับเต็ม ครูพบว่าเรื่องการฟังทั้ง 4 ส่วนนั้นค่อนข้างจะยากนิดหน่อยตรงที่เรามีโอกาสเพียง 1 ครั้งเท่านั้นในการฟังคำถามแต่ละข้อ ทั้งบทสนทนาและคำพูด ซึ่งก็เป็นไปตามที่บททดสอบได้บอกไว้ตั้งแต่แรกว่า “คำถามจะไม่ได้มีพิมพ์อยู่ในข้อสอบ และจะมีให้ฟังเพียงครั้งเดียวเท่านั้น” ตอนที่ครูลองทำข้อทดสอบเกี่ยวกับการฟังนั้น จำได้ว่าครูฟังไม่ทันไปบางข้อ โดยเฉพาะข้อทดสอบการฟังส่วนที่ 3 (บทสนทนา) และส่วนที่ 4 (การคุยเรื่องราวสั้นๆ) ผลก็คือ ครูรู้สึกกังวลและประหม่าในการทดสอบทักษาการฟังมากกว่าการอ่าน ครูเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมากๆ ปกติครูอ่านหนังสือมากกว่า 100 เล่มต่อปี และหลายๆคนที่รู้จักครู ก็มักจะพูดว่า ครูเป็นคนที่อ่านหนังสือเร็ว ดังนั้น ครูจึงทำข้อสอบเกี่ยวกับทักษะการอ่านอย่างสบายๆ
หลังจากที่ครูทำข้อสอบทั้งสองส่วนนี้แล้ว ครูได้เรียนรู้สองเรื่อง เรื่องแรกคือ สำหรับบททดสอบการฟัง 45 นาทีนั้น ครูได้คะแนนเต็ม ซึ่งทำให้ความกังวลในตอนแรกหมดไป และมีความมั่นใจในการทำข้อสอบ TOEIC ร้อยเปอร์เซ็นต์ เรื่องที่สองคือ ครูทำผิดพลาดไปสองจุดในส่วนของการอ่าน ซึ่งเป็นทักษะภาษาที่ครูมั่นใจในตัวเองมากที่สุด โดยเฉพาะส่วนที่ 7 (การอ่านเพื่อทำความเข้าใจ) ทั้งๆที่ครูสามารถทำข้อสอบในส่วนทักษะการอ่านนี้เสร็จก่อนเวลาถึงครึ่งชั่วโมง ดังนั้น ครูจึงได้ประสบการณ์สำคัญมา 2 ข้อ ข้อแรกคือ ต้องใช้เวลาอ่านและคิดดีๆในการตอบแต่ละคำถาม เพื่อที่จะเลือกคำตอบที่ถูกต้อง และข้อสองคือ ควรใช้เวลาที่เหลือในการทบทวนแต่ละคำถามอีกครั้ง
การจองเพื่อทดสอบ TOEIC
สำหรับคนไทยที่อยู่ที่กรุงเทพ ศูนย์ทดสอบ TOEIC จะเปิด ทุกวันจันทร์ ถึงวันเสาร์ โดยมี 4 ช่วงเวลาให้เลือก คือ 9:00, 10:00, 13:30 และ 14:30. ส่วนชาวต่างชาติทั้งที่มีและไม่มีใบอนุญาตการทำงานนั้น ทางศูนย์ทดสอบจะกำหนดวันและเวลาให้ โดยเพื่อนของครูและตัวครูเองตัดสินใจที่จะไปสอบวันเดียวกัน โดยที่เราเลือกวันสอบเป็นวันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม เวลา 9.00 น. โดยครูโทรไปจองวันทดสอบ TOEIC นี้ ล่วงหน้าเป็นเวลา 1 อาทิตย์ ครูใช้เวลาเพียง 10 นาทีในการจองวันและเวลาสอบ เจ้าหน้าที่จะสอบถามข้อมูลทั่วไป และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการมาเข้าทดสอบในวันที่เราเลือกไว้ ครูรู้สึกได้ว่าเจ้าหน้าที่มีความพร้อม และให้คำแนะนำได้อย่างเป็นระบบ
การลงทะเบียน
ในวันทดสอบ พวกเราไปถึงก่อนเวลาประมาณ 45 นาที นับเวลาตั้งแต่ที่พวกเราไปถึงศูนย์ทดสอบ TOEIC จนถึงนั่งโต๊ะในห้องสอบ รวมเวลาที่ใช้ในการดำเนินการตามขั้นตอนทั้งหมด 30 นาที มีการดูแลควบคุมอย่างเคร่งครัดเหมือนตอนที่เราผ่านด่านตรวจที่สนามบิน ไม่ว่าจะเป็น ต้องยืนเข้าแถว ห้ามนำน้ำดื่มเข้าไปในห้องสอบ ฝากของใช้ส่วนตัวไว้ในจุดที่กำหนดให้ เซ็นต์เอกสาร เป็นต้น และทุกอย่างก็เป็นไปตามที่ครูคาดไว้คือ ศูนย์ทดสอบ TOEIC นี้เข้มงวดและทำทุกอย่างแบบเป็นทางการทั้งหมด ซึ่งไม่ได้ช่วยให้เราใจนิ่งๆเท่าใดนัก แต่ครูคิดว่ายิ่งกลับทำให้เราตื่นเต้นและกังวลมากขึ้น ตัวครูเองก็ไม่ได้ชอบเรื่องการที่มีเอกสารหลายๆส่วน และระเบียบการขั้นตอนที่เคร่งครัดแบบนี้อยู่แล้วด้วย ครูสังเกตว่า ชาวต่างชาติคนอื่นๆที่เข้าแถวด้วยกันก็น่าจะรู้สึกแบบเดียวกับครู สำหรับครูแล้ว ช่วงเวลา 30 นาทีนี้เป็นช่วงเวลาที่ตึงเครียดที่สุดของประสบการณ์ในการเข้ามาทำการสอบ TOEIC
สรุปง่ายๆ สำหรับ 8 ขั้นตอน ในวันที่เราจะเข้ามาทำการทดสอบ TOEIC ดังนี้
- ตรวจสอบชื่อ วันและเวลาที่เราจองเข้ามาสอบ TOEIC
- เขียนที่อยู่ลงบนซองจดหมายจ่าหน้าถึงตัวเอง
- ลงทะเบียนและถ่ายรูป
- ตรวจสอบเอกสารทั้งหมดอีกครั้ง
- จ่ายเงิน (เงินสด, โอนเงิน, credit card หรือ QR code)
- ยื่นซองจดหมายที่จ่าหน้าถึงตัวเอง
- เก็บสัมภาระและของใช้ส่วนตัวทั้งหมดในล้อคเกอร์ (กระเป่าสตางค์ มือถือ เป็นต้น)
- เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่าเป็นเราจริงก่อนเข้าห้องสอบ
ในห้องที่ครูสอบมีราวๆ 40 คน ก่อนที่จะเริ่มการสอบ เจ้าหน้าที่แจกข้อสอบและ แบบฟอร์ม TOEIC ที่มีสองด้านให้ โดยให้เวลา 30 นาทีสำหรับทุกคนในการกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มให้เรียบร้อย ได้แก่ ชื่อ เลขประจำตัว เลขประจำตัวสอบ สัญชาติ เหตุผลที่มาสอบ TOEIC เป็นต้น บางบรรทัด ต้องให้ใช้ปากกา แต่บางบรรทัดก็ต้องใช้ดินสอ ซึ่งการกรอกแบบฟอร์มนี้มีความสำคํยเป็นอย่างมากที่ทุกคนต้องกรอกรายละเอียดทั้งหมดให้ครบถ้วนและถูกต้อง โดยที่เจ้าหน้าที่จะคอยเดินตามโต๊ะต่างๆเพื่อให้คำแนะนำในการกรอกแบบฟอร์ม และเมื่อทุกคนในห้องสอบกรอกรายละเอียดครบแล้ว เจ้าหน้าที่จะบอกให้ทุกคนเปิดข้อสอบได้ และทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งเราว่าเมื่อใดที่การทดสอบทักษะการฟังจะเสร็จสิ้น
เรื่องที่น่าสนใจ
มีเรื่องหนึ่งที่ทำให้ครูแปลกใจก็คือ หนังสือ the ETS Tactics for TOEIC book ซึ่งถึงแม้ครูจะทราบอยู่แล้วว่า EST ที่เป็นคนทำหนังสือในการสอนติว TOEIC นั้น เป็นบริษัทเดียวกับที่จัดทำการทดสอบ TOEIC แต่ครูไม่รู้เลยว่าหนังสือเล่มนี้จริงๆแล้วจะเหมือนกับการมาทำข้อสอบ TOEIC เลย แบบทดสอบทักษะการฟังของหนังสือก็ใช้เสียงเดียวกับตอนที่มาทำสอบจริง คำถามก็ใช้คำศัพท์คล้ายๆกัน รวมถึงการเลือกใช้แบบและขนาดของตัวอักษร ดังนั้น ครูคิดว่า ถ้านักเรียนฝึกทำแบบทดสอบจากหนังสือ EST ก็จะเป็นเหมือนได้ฝึกการทำข้อสอบ TOEIC ไปในตัว
คำแนะนำสำคัญเพื่อให้ได้คะแนนสอบ TOEIC สูงๆ
จากประสบการณ์ที่ครูสอน TOEIC มากว่า 7 ปี รวมถึงการที่ครูได้ลองสอบ TOEIC ด้วยตัวเอง นี่คือคำแนะนำที่ครูมั่นใจว่าจะมีประโยชน์สำหรับทุกคนที่จะเข้ามาทดสอบ TOEIC
- แบบทดสอบทักษะการฟัง ส่วนที่ 1 (รูปภาพ): ฝึกพูดว่าใคร ทำอะไรในรูป โดยใช้ present continuous tense (เช่น “The man is reading a book”) แต่ให้พึงระวังว่า บางรูปต้องใช้ present simple tense (เช่น “There’s a book in the man’s hands”) นั่นก็คือ ให้สังเกตดีๆว่า รูปไหนเป็นการกระทำที่กำลังทำอยู่ และรูปไหนเป็นเพียงแค่บรรยายสิ่งที่อยู่ในรูป
- แบบทดสอบทักษะการฟัง ส่วนที่ 2 (คำถาม - คำตอบ): ให้คำนึงว่า ไม่ใช่ทุกประโยคในส่วนทดสอบนี้จะเป็นคำถามจริง บางครั้งอาจจะเป็นแค่คำกล่าวหรือแจ้งให้ทราบเท่านั้น (เช่น “I think I’ve lost my umbrella.”) หรืออาจจะเป็นแค่การตอบรับ (เช่น “Where do you think you left it?”) และที่น่ายุ่งยากที่สุดก็คือคำตอบที่ไม่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น คำถามที่ว่า “Where do you want to have lunch?” อาจจะได้คำตอบแบบนี้ “I wasn’t invited.” ซึ่งถ้าเราตัดคำตอบที่ไม่น่าจะใช่ออกไป ประโยคนี้คือคำตอบที่ถูกต้อง ซึ่งจุดที่ครูอยากแนะนำก็คือ ให้เลือกคำตอบที่เป็นไปได้ไว้ก่อน จากนั้นเลือกคำต้องที่ถูกต้องหลังจากที่คำตอบทั้งหมดได้ถูกอ่านให้เราฟังแล้ว
- แบบทดสอบทักษะการฟัง ส่วนที่ 3 (บทสนทนา) และส่วนที่ 4 (การพูดคุย): สำหรับสองส่วนนี้ คำถามและคำตอบทุกข้อจะมีอยู่ในกระดาษข้อสอบ โดยที่แต่ละบทสนทนาและการพูดคุยจะมี 3 คำถาม ซึ่งจะเป็นไปตามลำดับเสมอ ดังนี้คือ เราต้องตอบคำถามแรกก่อน และตอบข้อสุดท้ายหลังสุด ดังนั้น เมื่อเราฟังคำถาม แล้ว ให้ใช้เวลาในการอ่านคำถามลำดับถัดไป เพื่อที่ว่าเราจะพอคาดการณ์ได้ถึงเนื้อหาและจะได้เตรียมเลือกคำตอบไว้
- แบบทดสอบทักษะการอ่าน ส่วนที่ 5 (ประโยคที่ไม่สมบูรณ์) และส่วนที่ 6 (ความสมบูรณ์): ในส่วนของแบบทดสอบนี้ มีหลายจุดที่ต้องให้ความสำคัญ บางคำถามจะใช้ Tense, คำพูด, คำศัพท์ ,ไวยากรณ์, กลุ่มวลี เป็นต้น ครูแนะนำว่า ให้อ่านและวิเคราะห์โครงสร้างของแต่ละประโยคดีๆ ในแต่ละคำถามมักจะมีคำใบ้ให้เราสังเกตเสมอ
- แบบทดสอบทักษะการอ่าน ส่วนที่ 7 (การอ่านเพื่อความเข้าใจ): ในส่วนนี้ มีหลายคนบอกว่า ทำข้อสอบไม่ทัน ซึ่งข้อสอบ TOEIC ในปัจจุบันได้มีการปรับในส่วนนี้ โดยให้คำถามมาจาก การอ่าน 3 ส่วน (ได้แก่ emails 2 ฉบับ และ ใบแจ้งหนี้อีก 1 ฉบับ) จุดสำคัญคือ เราต้องสามารถอ่านผ่านประเด็นสำคัญๆให้ครบโดยเร็วก่อน จากนั้นค่อยเข้าไปอ่านในรายละเอียดหลังจากที่เราอ่านคำถามแล้ว ถ้าเรารู้สึกว่า เวลาเหลือไม่พอในการอ่านส่วนนี้ และเราเห็นว่ามีคำถามที่เป็น Negative information question เช่น “ Which of the following is NOT mentioned in the passage?” ครูแนะนำให้ข้ามคำถามแบบนี้ไปก่อน แล้วไปทำคำถามอื่นๆให้เรียบร้อย และถ้ายังมีเวลาเหลือ ก็ค่อยกลับมาที่คำถามนี้อีกครั้ง เพราะคำถามในลักษณะนี้ต้องใช้เวลาในการตอบ
ประสบการณ์สำคัญ
ในช่วงการทดสอบทักษะการฟัง ครูมั่นใจในการทำข้อสอบทั้ง 99 ข้อ ดังนั้น ครูคิดว่าครูจะได้ 495 คะแนนสำหรับข้อสอบส่วนนี้ สำหรับแบบทดสอบในส่วนที่ 2 นั้น มีอยู่หนึ่งข้อที่เสียงไม่ค่อยชัดเพราะเสียงที่อ่านนั้นพูดเร็วมาก แต่หลังจากที่ฟังครบ ครูก็ตอบได้ถูกต้อง ถัดมา ในแบบทดสอบทักษะการอ่านนั้น หลังจากครูทำข้อสอบเสร็จ ยังมีเวลาเหลืออีก 25 นาที ครูจึงใช้เวลาช่วงนี้ในการทบทวนคำถามทั้ง 100 ข้อ ซึ่งครูก็ดีใจที่ครูเลือกที่จะทบทวนอีกครั้ง เพราะครูพบว่าครูตอบผิดไป 2 ข้อ คล้ายๆกับตอนฝึกทำข้อสอบก่อนมาสอบจริง หลังจากทีได้ทบทวนคำตอบในข้อสอบทั้งหมดแล้ว ครูมั่นใจทันทีว่าครูทำข้อสอบได้ถูกต้องทั้งหมด และครูจะได้อีก495 คะแนนจากในส่วนนี้อย่างแน่นอน
สุดท้าย ครูอยากจะบอกว่า ครูได้ผลคะแนน TOEIC 990 คะแนนตามคาด ซึ่งถ้าครูได้คะแนนน้อยกว่านี้ ถึงจะเป็นคะแนนที่สูง แบบ 985 คะแนนก็ตาม ครูก็คงไม่กล้าที่จะมาเขียนบทความนี้ให้ทุกคนได้อ่านกัน ประสบการณ์ในการทำข้อสอบ TOEIC ครั้งนี้ทำให้ครูภูมิใจและมั่นใจว่า นักเรียนจะได้เรียนเทคนิคต่างๆที่เป็นประโยชน์ที่จะช่วยให้นักเรียนชองครูสอบ TOEIC ได้คะแนนสูงๆอย่างที่คาดหวังไว้ และครูก็รู้สึกได้ว่านักเรียนทุกคนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการที่จะไปทำแบบทดสอบ TOEIC อีกเรื่องคือ เป็นที่น่าเสียดายว่า เพื่อนของครูได้คะแนนเพียง 685 คะแนน โดยที่การสอบครั้งนี้เธอคาดหวังว่าจะได้ 700 คะแนน แต่อย่างน้อยคะแนนของเธอก็เพิ่มขึ้นมาถึง 60 คะแนน จากการที่ครูช่วยให้คำแนะนำในการฝึกทำข้อสอบเพียงครั้งเดียว
เรื่องถัดไปที่อยากจะทำ ?
จากประสบการณ์ในครั้งนี้ ครูจึงอยากจะไปลองทำแบบทดสอบ IELTS และ TOEFL ด้วย เพราะครูก็สอนติวนักเรียนที่ต้องการได้คะแนนสูงๆในทั้งสองแบบทดสอบนี้เช่นกัน แต่ค่าสมัครสอบของทั้ง IELTS และ TOEFL นั้น แพงกว่า TOEIC ถึง 3 เท่า ดังนั้น ครูคิดว่า ครูภูมิใจกับคะแนนสอบ และประสบการณ์ในการสอบ TOEIC ไปก่อนในตอนนี้ แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้าครับ