ทำไมต้องมีการบ้าน
6 เหตุผลของการทำการบ้าน
การบ้าน อาจจะเหมือนเรื่องน่าเบื่อ แต่กลับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราจำความรู้ที่เรียนในห้องเรียนได้ดีขึ้น และยังทำให้เรานำไปใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย.
กุมภาพันธ์ 2564
6 เหตุผลสำคัญที่คุณครูต้องให้การบ้าน และทำไมเราถึงต้องทำการบ้านให้เสร็จ
คำว่า “การบ้าน” ทำให้หลายๆคนรู้สึกขยาดกับคำๆนี้ โดยเฉพาะเด็กๆวัยเรียน ตั้งแต่ประถม มัธยม จนถึงระดับมหาวิทยาลัยกันเลยทีเดียว จริงหรือไม่ครับ สำหรับผมแล้ว ถ้าพูดถึงเรื่อง “การบ้าน” ภาพที่เข้ามาในความคิดแรกก็คือ ภาพของเด็กๆกลับมาจากโรงเรียนพร้อมเป้หนักๆที่หลัง ซึ่งจุไปด้วยสารพัดตำราเรียน สมุดจดงาน สมุดทำรายงาน หรืออีกภาพสำหรับผมก็คือ ภาพของเด็กมหาวิทยาลัยที่ต้องอยู่กันดึกๆเพื่อทำรายงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จ เห็นกันอย่างนี้แล้ว แล้วทำไมคุณครูหรืออาจารย์ทั้งหลายถึงยังต้องให้การบ้านกับนักเรียนกันมากมายขนาดนี้ คำตอบง่ายๆ ที่ผมได้ค้นคว้ามาก็คือ ข้อแรก คุณครูใส่ใจกับความก้าวหน้าของเด็กนักเรียน และข้อสอง คือ การบ้านเป็นส่วนสำคัญมากในการประสบความสำเร็จ เหมือนกับประโยคที่ว่า “practice makes perfect”. ซึ่งก็หมายความว่า การฝึกทำบ่อยๆจะทำให้เราเก่ง นั่นเอง
เราต้องเข้าใจว่า นักเรียนวัยเรียนส่วนใหญ่เรียนวันละ 7 วิชา และเรียนแบบนี้ 5 วันต่ออาทิตย์ แต่สำหรับคนที่เป็นผู้ใหญ่วัยทำงานแล้ว เราก็มักจะเลือกเรียนในสิ่งที่เราสนใจจริงๆ เช่น ลงเรียนภาษาจีนกลางเพื่อเตรียมตัวไปเที่ยวประเทศจีน ซึ่งก็น่าจะเรียนแค่ อาทิตย์ละ 4 ชั่วโมง หรือ อาจจะลงเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้ในที่ทำงานอีกสัก 2 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ แน่นอนว่าเราต้องจ่ายเงินเรียนเองในคอร์สต่างๆที่เราสนใจ ดังนั้นเราก็ต้องอยากให้ได้ผลคุ้มค่ากับเงินที่เราต้องจ่ายออกไปอยู่แล้ว การที่คุณครูให้ทำการบ้านเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเรียนไม่กี่ชั่วโมงต่ออาทิตย์ในโรงเรียนสอนภาษา ก็เพื่อทำให้เราเก่งขึ้นเร็วๆ นั่นเอง
และไม่ว่าจะเป็นนักเรียนเต็มเวลา หรือนักเรียนในโรงเรียนสอนภาษาเพื่อเรียนภาษาที่สองหรือภาษาที่สามก็ตาม การทำการบ้านจะช่วยให้เราทุกคนเก่งเร็วขึ้น จากแนวคิดที่ว่า “practice makes perfect” (การฝึกทำบ่อยๆจะทำให้เราเก่ง) นั้น ไม่ได้ใช้กับแค่นักเรียนที่เรียนเลข หรือเรียนภาษาเท่านั้น แต่ยังใช้ได้กับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆทุกอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น เรียนทำเค้ก เรียนทำเว้บไซต์ หรือแม้แต่เรียนขี่มอเตอร์ไซค์ คือเมื่อใดก็ตามที่เราจะลงเรียนอะไรใหม่ๆ สิ่งที่สำคัญมากก็คือ เราต้องใช้เวลาว่างที่มีอยู่ในการฝึกฝนสิ่งที่เราเรียนมาบ่อยๆ เพื่อให้สมองของเราจดจำและซึมซับทักษะใหม่ที่เราเรียนมานี้ให้ได้นั่นเอง
ในที่นี่จะใช้ตัวอย่างของการเรียนภาษา เพื่อจะได้เข้าใจง่ายๆ ถึงเหตุผลสำคัญ 6 อย่างที่คุณครูให้การบ้านนักเรียนกลับไปทำให้เสร็จ ซึ่งก็คือ
1. ความคาดหวัง
ลองหลับตาแล้วนึกภาพว่าเราเป็นนักเรียน เห็นภาพของอะไรตามเข้ามาในความคิดเราบ้าง เช่น เครื่องแบบนักเรียน คุณครู หนังสือเรียน ตารางเรียน โรงเรียน ห้องเรียน การสอบ เกรด และ แน่นอน “การบ้าน” ถ้าคิดกันว่าคำต่างๆเหล่านั้นมักมาพร้อมๆกับการเป็น “นักเรียน” ดังนั้น เมื่อเราเป็นนักเรียนในโรงเรียนสอนภาษา เราก็จะต้องเจอภาพเหมือนๆกันคือ คุณครู หนังสือเรียน การสอบ และ “การบ้าน” เพียงแต่เราไม่ต้องห่วงว่าต้องมาใส่ชุดนักเรียนเพื่อมาเรียนในโรงเรียนสอนภาษา
ไม่ใช่แค่ว่านักเรียนรู้ว่าการมาเรียนจะต้องได้ “การบ้าน”เท่านั้น แต่จะต้องรู้ด้วยว่าการทำการบ้านให้เสร็จถือเป็นหน้าที่ ก็เหมือนกันกับผู้ใหญ่วัยทำงานที่เรามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบทั้งกับที่ทำงานและกับครอบครัว แต่เมื่อเราเลือกที่จะกลับมาเป็นนักเรียนอีกครั้งเพื่อเรียนภาษาที่สอง เรายิ่งต้องตั้งความคาดหวังไว้ให้สูงๆเพื่อตัวเราเอง เพื่อให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่มุ่งหวังไว้ แล้วเราก็จะภูมิใจในตัวเอง ซึ่งความสำเร็จจากการเรียนจะเกิดขึ้นได้ โดยมี “การบ้าน” เป็นส่วนสำคัญ
เมื่อใดก็ตามที่คุณครูสอนภาษามอบหมายการบ้านให้ ต้องบอกกับตัวเองเสมอว่า เราจะต้องทำให้เสร็จ การฝึกเขียนภาษาไม่กี่ประโยคนั้น ช่วยให้เก่งขึ้นได้จริง แต่ถ้าเราฝึกเขียนเป็นหน้าๆก็จะยิ่งช่วยให้เก่งภาษามากยิ่งขึ้นไปอีก ต้องให้สัญญากับตัวเองไปเลยว่า เราจะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ในการฝึกภาษาโดยการทำการบ้านตามแนวคิด “practice makes perfect” ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลาทำการบ้านมากกว่าที่เรียนกับคุณครูในห้องเรียนก็ตาม นึกไว้ว่ายิ่งเราฝึกฝนบ่อยเท่าไร ผลดีที่ได้ก็จะเกิดกับตัวของเราเองเท่านั้น
และสุดท้ายสำหรับเรื่องสิ่งที่คาดหวัง ลองนึกถึงตัวเองในบรรยากาศห้องเรียน เราอาจจะเรียนภาษากับคุณครูที่เก่งมากๆ ที่เข้าใจว่าเราเก่งตรงไหน หรือต้องเพิ่มทักษะใดบ้าง แต่ห้องเรียนก็คือห้องเรียน เราได้เรียนอะไรใหม่ๆก็จริง แต่หนังสือก็เป็นเพียงแค่ทฤษฎี และเราก็มีเวลาไม่มากนักที่จะฝึกการใช้ภาษาในห้องเรียนกับคุณครู คุณครูจึงมักจะมีการบ้านให้กลับไปฝึกฝน เราต้องนำภาษาที่เรียนในห้องเรียนมาใช้ในชีวิตจริง ไม่ว่าจะอ่านหนังสือภาษาต่างประเทศ เข้าร้านอาหาร หรือ ไปในที่ที่มีโอกาสได้ฝึกฝนภาษาที่เรียนมา เพราะเหตุผลหลักๆที่เราไปเรียนภาษา ก็คือ ความคาดหวังที่จะสื่อสารภาษานั้นได้เก่งๆ
2. ลักษณะนิสัย
ทุกวันขึ้นปีใหม่หรือวันครบรอบวันเกิด หลายๆคนจะตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง สัญญากับตัวเองว่าจะทำอะไรบ้างเพื่อให้ตัวเองดีขึ้น บางคนก็เลือกที่เริ่มออกกำลังกาย หรือลดอาหารเพื่อคุมน้ำหนัก ซึ่งถ้ามีใครเคยตั้งเป้าหมายให้ตัวเองในทุกๆปีใหม่มาก่อน เราจะเข้าใจได้ง่ายเลยว่า การที่จะทำให้ถึงเป้าหมายนั้น ที่สำคัญมากๆคือความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ นั่นก็คือ ถ้าเราจะควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก แต่ก็มีขอบางวันไม่ทำหรือไม่สามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอ แน่นอนว่าเราก็จะไม่ไปถึงเป้าหมายนั้น หรือถ้าบางคน ตัดสินใจที่จะเรียนภาษาที่สามเพื่อที่จะพัฒนาตัวเอง อันนี้ก็ถือเป็นการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆให้กับตัวเอง แต่ก็หมายความถึงความรับผิดชอบที่จะต้องตามมา ซึ่งถ้าเราต้องการพัฒนาตัวเอง ก็ต้องให้เวลาและมีความตั้งใจที่จะทำ “การบ้าน” ตามที่คุณครูมอบหมาย
ลักษณะนิสัยที่ดีในการเรียนภาษาก็คือ ต้องจดบันทึก แม้ว่าคุณครูจะเตรียมบทเรียน หนังสือเรียน และกระดาษทำงานมาให้อยู่แล้ว แต่การจดบันทึกยังเป็นข้อสำคัญของการฝึกให้สมองได้เรียนรู้ว่า บทเรียนที่เรียนอยู่ ส่วนไหนคือส่วนสำคัญ ซึ่งเมื่อนักเรียนกลับไปทบทวนบทเรียนจากที่จดบันทึกไว้ ก็เป็นการย้ำให้สมองเรารู้ว่าส่วนนี้คือส่วนสำคัญที่ต้องจดจำจริงๆ การจดบันทึกจึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรามีความจำที่ดี โดยเฉพาะเวลาที่เราเลือกเรียนทักษะใหม่ๆ
ทักษะเดิมๆแต่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การทบทวน ลองหันมามองที่ทำงาน งานที่ต้องทำ ต้องเขียนอีเมล์กี่ฉบับในชีวิตการทำงาน ต้องเขียนรายงานกี่เล่ม แล้วเราส่งทันทีที่เขียนอีเมล์หรือรายงานเสร็จใช่หรือไม่ ไม่ใช่เลยครับ เราทุกคนรู้ถึงความสำคัญของเอกสารต่างๆ ดังนั้นก่อนที่จะส่งให้เจ้านายหรือลูกค้า ก็ต้องใช้เวลาทบทวนและตรวจทานดูให้มั่นใจว่า ใช้ภาษาได้ถูกต้อง และสื่อความหมายอย่างที่ต้องการ จะเห็นได้ว่า การตรวจทานหรือทบทวนจะช่วยให้ไม่มีความผิดพลาด ซึ่งก็เป็นการสอนสมองของเราในกรณีที่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นว่า ครั้งต่อไปจะไม่มีข้อผิดพลาดอีก ก็เหมือนกับการทำการบ้าน ที่ต้องให้เวลาในการทำ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีข้อผิดพลาด และเป็นการบ้านที่ตั้งใจทำอย่างดีที่สุดในทุกๆครั้ง ผลที่ได้ก็จะเป็นความภูมิใจของเราเอง
ขณะที่การทบทวนจะช่วยลดความผิดพลาด เราก็ควรที่จะใช้โอกาสนี้ในการฝึกฝนภาษาในชีวิตจริงด้วย เช่นคำศัพท์หรือสำนวนใหม่ๆ ไม่ว่าจะจากการอ่านบทความหรือฟังเพลงแล้วค้นหาเนื้อเพลง แล้วเราก็ใช้เวลาในการหาความหมายของคำศัพท์นั้นๆ เพื่อนำมาใช้ในการทำการบ้านของเรา ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มพูนความรู้ของเรามากยิ่งขึ้นไปอีก และคุณครูก็จะประทับใจในผลงานที่เราตั้งใจทำอีกด้วย
3. ความต่อเนื่อง
ถ้าตอนนี้เรากำลังเรียนภาษาต่างประเทศอยู่ ซึ่งก็น่าจะเรียนแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อหนึ่งสัปดาห์ ดังนั้นสิ่งใหม่ๆที่ได้เรียนรู้ก็มักจะมาจากหนังสือเรียน ซึ่งโดยหลักการแล้วก็เป็นเชิงทฤษฎีเป็นหลัก อาจจะไม่ได้สื่อถึงโลกภายนอกมากนัก อย่างไรก็ตาม การที่มาเรียนภาษาใหม่ๆ เมื่อออกไปข้างนอก เราก็จะสังเกตได้ว่ามีคนพูดภาษานี้ในเวลานั้นๆ ทำให้เราเข้าใจภาษาและการใช้ภาษาง่ายขึ้น สมองของเราก็จะสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนในห้องเรียนกับการใช้ภาษาที่สัมผัสได้จริงในชีวิตประจำวัน ดังนั้น การจดจำสิ่งที่เรียนในห้องเรียน การทำการบ้าน และการทบทวนบทเรียน จะช่วยให้ทุกคนเก่งขึ้นและเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
นอกเหนือไปจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เรียนในห้องเรียนกับสิ่งที่พบเจอในชีวิตจริงแล้ว การทำการบ้านจะทำให้การเรียนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง หนังสือส่วนใหญ่ในแต่ละหัวข้อของบทเรียน จะครอบคลุมคำศัพท์และหลักไวยากรณ์ที่จะค่อยๆยากขึ้น ซึ่งถ้านักเรียนมีการฝึกฝนทำการบ้านอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้การส่งต่อระหว่างบทเรียน ไปยังบทเรียนที่ยากขึ้นจะเป็นไปอย่างราบรื่น มีการเพิ่มความซับซ้อนของภาษา และเพิ่มทักษะอย่างต่อเนื่อง ยิ่งถ้านักเรียนตั้งใจทำการบ้านจนเป็นลักษณะนิสัยประจำตัวไปแล้ว จะยิ่งพบว่าทักษะภาษาของเราจะก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว
ตำราทางภาษาไม่ได้บอกถึงโลกแห่งความเป็นจริงทั้งหมด ตำราจะบอกเรื่องกฎการใช้ภาษาหรือคำศัพท์ต่างๆ แต่ไม่ใช่ทุกอย่างในโลกของเรา ดังนั้น หลังจากการเรียนภาษา เราต้องนำภาษาไปใช้ ไปเรียนรู้ว่าภาษาที่พูดกันจริงๆในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร ลองดูวีดีโอที่ชอบ อ่านบทความที่ตัวเองสนใจ หรือคุยกับเจ้าของภาษาในเรื่องต่างๆ แล้วจะพบว่า ภาษาที่ใช้กันจริงๆ ไม่ได้มีอยู่ในตำรามากนัก
4. ความเป็นอิสระและความเกี่ยวข้องกัน
ในโลกแห่งความเป็นจริง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่จะช่วยพัฒนาความสามารถทางภาษาของเรา ไม่ใช่แค่ ดูจาก YouTube หรืออ่านบทความจากที่ต่างๆ เช่น วิกิพีเดีย เพียงแต่เราไม่ต้องไปดูหรือไปอ่านทั้งหมดเพื่อให้เก่งภาษานั้นๆ ขอแค่ว่ามีใจรักในการเรียนภาษา แล้วก็เลือกเรื่องที่สนใจจริงๆ เช่น ถ้าเราเป็นคนที่รู้เรื่องผีเสื้อเป็นอย่างดี ก็ให้ใช้เวลาในการหาคำศัพท์ที่เกี่ยวกับผีเสื้อหรืออ่านเรื่องราวเกี่ยวกับผีเสื้อในภาษาที่เรียนมา แล้วเราจะแปลกใจว่า เรื่องอะไรก็ตามที่สำคัญกับเรา จะนำมาใช้ช่วยในการเรียนภาษาได้เป็นอย่างดี และแน่นอนว่าการเรียนที่สามารถเชื่อมโยงหนังสือที่เรียนกับโลกภายนอก รวมถึงการทำการบ้าน เขียนภาษาเกี่ยวกับเรื่องที่ชอบ จะช่วยให้ทั้งเรียนสนุกและใช้ภาษาได้ดี
การทำการบ้านไม่ได้แค่ช่วยทบทวนบทเรียนที่เรียนไปครั้งก่อนเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้นักเรียนได้ใช้ความรู้ที่มีอีกด้วย เขียนในสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง ซึ่งคุณครูจะช่วยให้การเขียนของเรามีความผิดพลาดน้อยลง ความผิดพลาดที่บางทีเราก็ทำแล้วทำอีกมาตลอด บางครั้งก็ดูเหมือนจะยากที่กำจัดออกไป แต่ยิ่งเราฝึกฝนมากขึ้นเท่าไร ที่สุดเราก็จะสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดในการเขียนของตัวเองได้เองทั้งหมด
คุณครูสอนภาษาที่มืออาชีพจะไม่ตัดสินนักเรียนเวลาที่ใช้ภาษาผิด แต่คุณครูกลับจะยิ่งเข้าใจว่า นักเรียนทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้ และกำลังอยู่ในห้องเรียนที่มาเรียนรู้ภาษาเพิ่มเติม การเขียนนอกห้องเรียนเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการฝึกฝนทักษะทางภาษา แต่ก็ต้องรู้ว่า ภาษาเขียนกับภาษาพูดจะมีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น การเขียนภาษาอังกฤษอาจจะเป็นทางการมากเกินไปเมื่อนำมาใช้พูดเสียงดังๆกับเพื่อนๆ และคนที่พูดภาษาอังกฤษก็มักจะไม่เขียนอย่างที่เวลาตัวเองพูด เพราะเวลาพูดอาจจะมีการย่อคำ ซึ่งถ้าเราเรียนคอร์สภาษาอังกฤษ ก็ต้องได้เรียนทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนที่ถูกต้อง
และไม่ว่าบทสนทนาหรือการบ้านของเราจะเกี่ยวกับ ผีเสื้อ รถไฟ ขนมเค้ก หรือ อาณาจักรโรมันก็ตาม เราต้องภูมิใจกับการใช้ภาษาที่สองที่เรียนมา การใช้ภาษาของเราอาจจะไม่สวยหรู แต่ให้รู้ไว้ว่า แม้แต่เจ้าของภาษาเองก็ยังใช้ภาษาผิดได้ ดังนั้น เมื่อเราเขียนการบ้านในหัวข้อที่ชอบจบหนึ่งหน้ากระดาษแล้ว ควรจะชื่นชมกับผลงานที่ทำ เพราะไม่ใช่แค่เป็นงานที่เรารัก แต่เป็นงานที่มีคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งไม่มีใครที่จะมาเขียนได้เหมือนภาษาที่เราเขียนออกมาด้วยต้วเอง ภูมิใจได้เลยกับผลงานของตัวเอง เพราะคุณครูต้องภูมิใจไปกับนักเรียนทุกคนแน่นอน
5. ความสำเร็จ
ความรู้สึกภูมิใจเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ อาจจะไม่ได้เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ แต่ความสำเร็จทีละเล็กทีละน้อยในการเรียนภาษาที่สองก็ถือเป็นชัยชนะได้ บางครั้งความสำเร็จที่ว่าอาจจะเป็นเพียงแค่ จำคำศัพท์ใหม่ๆได้ จำรูปแบบกริยาได้ หรือรู้ว่าจะต้องใส่เครื่องหมายจุลภาคตรงไหนระหว่างสองประโยคให้ถูกต้อง แต่ถ้าจะพูดกันถึงชัยชนะแบบใหญ่ขึ้นมาอีก ก็อาจจะเป็นเรื่องของการใช้รูปกริยาในการเขียนเรื่องยาวๆ การเปรียบเทียบเมืองต่างๆในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ การใช้เครื่องหมายแยกประโยคในการเขียนเรียงความ เพียงแค่นี้ก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว และแน่นอนว่าจะทำให้เรารู้สึกดีมากๆ
การพูดและการเขียนเป็นทักษะทางภาษาที่วัดกันได้ง่ายๆ คือ พอนักเรียนพูด คุณครูก็ให้คะแนนสำหรับการพูด และถ้านักเรียนเขียน คุณครูก็ให้คะแนนสำหรับการเขียนนั้นๆ แต่ทักษะภาษาอย่างเรื่องการอ่านและการฟังจะค่อนข้างยากในการประเมินวัดผล นักเรียนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมาเรียนภาษาเพื่อเพิ่มทักษะการฟังหรือการอ่าน แต่ถ้าหนึ่งในนั้นคือเป้าหมายของเรา อย่างง่ายๆที่ทำได้ก็คือ อ่านบทความต่างๆในหนังสือพิมพ์ และถ้าเราเข้าใจถึง 80% ก็ขอให้ภูมิใจในตัวเองได้เลย หรือถ้าเลือกที่จะดูหนังเป็นภาษาอังกฤษ แล้วสามารถเข้าใจเรื่องราวได้ถึง 50% แค่นี้ก็เป็นชัยชนะย่อยๆของตัวเองแล้ว
ชัยชนะย่อยๆอาจจะดูเหมือนว่าไม่ได้เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ และอาจจะเป็นการยากที่เห็นความก้าวหน้าของพัฒนาการทางภาษาของตัวเองเวลาที่เรียนภาษา แต่เชื่อได้เลยว่า เราเก่งขึ้นทุกวันที่เรียนและฝึกฝน ดังนั้นอย่าหมดความตั้งใจ บางครั้งเราก็ต้องถอยไปหนึ่งก้าว แล้วทบทวนสิ่งที่เราเรียนมาและถามตัวเองว่า สิ่งที่ทำอยู่ในตอนนี้ช่วยให้เรียนภาษาได้ดีขึ้นหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ แสดงว่ามาถูกทางแล้ว แต่ถ้าคำตอบคือไม่ใช่ แสดงว่า เราอาจไม่ได้ให้เวลามากเพียงพอ
6. การส่งเสริมและข้อเสนอแนะ
ถ้าเรารักเรื่องผีเสื้อและตั้งใจเขียนการบ้านที่เป็นบทความเกี่ยวกับผีเสื้อ คุณครูจะเห็นความตั้งใจนั้น และคุณครูก็จะให้ข้อเสนอแนะในการเขียนบทความให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในฐานะนักเรียน ก็ต้องจดจำและนำไปใช้ในครั้งหน้า เพื่อที่ว่าการทำการบ้านในครั้งต่อไป จะได้นำสิ่งที่เรียนรู้มาใช้ คู่กับสิ่งที่ได้เรียนมาใหม่ การฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ทุกคนเก่งในที่สุด
จริงๆแล้ว การที่นักเรียนจะใช้กูเกิ้ลช่วยหาคำศัพท์ใหม่ๆเพื่อมาทำการบ้าน หรือการที่จะใช้รูปกริยาขั้นสูงๆ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนเนื้อหาที่คุณครูสั่งให้ทำนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะเรามีคุณครูที่จะช่วยสอนและแนะนำอยู่แล้ว คุณครูจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจการใช้ภาษาต่างๆ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ การนำภาษาที่เรียนในห้องเรียนไปใช้ในโลกภายนอกต่างหาก การฝึกฝนบ่อยๆเป็นทางเดียวที่จะทำให้เก่งภาษา อย่าลืมเสมอว่า “practice makes perfect”. ดังนั้น ต้องหาเวลาและใช้เวลาในการทำการบ้าน แล้วผลที่ดีก็จะตามมา
บทสรุป
“การบ้าน” ไม่ได้หมายถึงการที่เด็กคนหนึ่งจะแบกเป้หนักๆ หรือ นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ต้องอยู่ทำงานจนดึกดื่น และ“การบ้าน”ก็ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นสะพานที่จะเชื่อมไปในโลกแห่งความเป็นจริง เป็นสะพานสู่ความก้าวหน้าและความสำเร็จ คุณครูให้การบ้านนักเรียนก็เพราะว่าต้องการให้นักเรียนประสบความสำเร็จ และการที่นักเรียนจะประสบความสำเร็จได้นั้น นักเรียนควรต้องทำตามนี้:
- ตั้งความคาดหวังให้กับตัวเองในการทำการบ้าน
- สร้างลักษณะนิสัย่ที่ดีในการทำการบ้าน
- เวลาทำการบ้าน พยายามคิดนอกกรอบเสมอ
- ตั้งใจทำการบ้านและพยายามเชื่อมโยงกับสิ่งที่ชอบ
- ภูมิใจทุกครั้งที่ทำการบ้านเสร็จ
- และอย่าลืมว่าการฝึกฝนจะนำไปสู่ความสำเร็จ “practice makes perfect”